อยากเอาตัวรอดในยุคสมัยนี้ ต้องแปลงร่างเป็น “มนุษย์ไฮบริด” พร้อมปรับตัวได้ทุกสภาวะ จะให้บิดไปทางซ้ายบิดไปทางขวา หรือบิดหน้าบิดหลัง ก็เหาะเหินตีลังกาได้ทุกท่วงท่า ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะปรับตัวยังไง เปลี่ยนโหมดไม่ถูก ลองเอาอย่างพวกสิงสาราสัตว์ที่ถูกผสมข้ามสายพันธุ์เป็น “ไฮบริดแอนิมอล” เพื่อให้อึดถึกทน แถมฉลาดกว่าเก่าเป็นหลายเท่าตัว
ถ้าพูดถึงต้นแบบของ “สัตว์ไฮบริด” ที่ผสมข้ามสายพันธุ์จนได้ดิบได้ดีแซงหน้าเพื่อนๆแอนิมอล ต้องยกให้ “ล่อ” นำมาอันดับหนึ่ง “ล่อ” เป็นลูกผสมระหว่าง “ลาตัวผู้” กับ “ม้าตัวเมีย” แม้จะมีลำตัวและขาเรียวงามคล้ายม้า แต่หน้าตาของล่อกลับถอดแบบจากลาเปี๊ยบเลย โดยเฉพาะเสียงร้องกระเดียดไปทางพ่อเต็มๆ
อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีการขุดพบฟอสซิลของ “ล่อ” ที่แสดงให้เห็นว่าถือกำเนิดบนโลกใบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่นักประวัติศาสตร์ค้นพบหลักฐานบ่งชี้ว่า มนุษย์เริ่มผสมพันธุ์ม้ากับลาเป็นครั้งแรก เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว โดยหนึ่งในหลักฐานปรากฏในตำนานของชาวยิวระบุว่า “ล่อ” คือสัตว์ในราชสำนัก ขณะที่กวีเอกของโลกอย่าง “โฮเมอร์” บันทึกว่าชาวเมืองเฮเนเทียในเอเชียไมเนอร์ มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการผสมพันธุ์สัตว์ โดยเฉพาะ “ล่อ” ส่วนในประเทศกรีซโบราณมีการนำ “ล่อ” มาใช้ประโยชน์อย่างคึกคักที่สุด โดยชาวกรีกนิยมผสมพันธุ์ล่อ เพื่อใช้ลากเกวียนและทำนา “ล่อ” ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจในยุคโบราณก็ว่าได้ ถึงขั้นมีการจัดการแข่งขันล่อในกีฬาโอลิมปิก เมื่อ 2,500 ปีก่อน คิดดูว่า เกิดเป็น “ล่อ” ยุคนั้น มันจะเท่ระเบิดระเบ้อขนาดไหน
เพราะ “ล่อ” ทั้งคล่องแคล่ว ฉลาด และกล้าหาญกว่า “ลาผู้เป็นพ่อ” แถมอึดถึกทนแข็งแรงกว่า “แม่ม้า” ซึ่งขี้ตื่นตกใจ ในประเทศชั้นนำของยุโรป เช่น ฝรั่งเศส, สเปน และอิตาลี จึงมีการทำฟาร์มเลี้ยงล่อเป็นล่ำเป็นสันมาตั้งแต่อดีต เพื่อส่งออกไปขายทั่วทุกมุมโลก แต่กว่าอเมริกันชนจะรู้จักความเก่งกาจของล่อ ก็ล้าหลังชาวบ้านชาวช่องไปนานโข กระทั่งกษัตริย์สเปนมอบลาพันธุ์ดีให้ “จอร์จ วอชิงตัน” ชาวมะกันถึงเริ่มรู้จักผสมพันธุ์ล่อ และสุดท้ายก็หันมาใช้ล่อแทนม้าเพื่อทำเกษตรกรรมอย่างแพร่หลาย กระนั้น จุดอ่อนของล่อคือมักเป็นหมัน จึงต้องพึ่งลากับม้าเพื่อขยายพันธุ์อยู่ร่ำไป ในบางประเทศใช้ลาตัวเมียผสมกับม้าตัวผู้ จะมีชื่อเฉพาะต่างออกไปว่า “ฮินนี”
นอกจาก “ล่อ” ที่เป็นตำนานแล้ว ในบรรดา “สัตว์ไฮบริดผสมข้ามสายพันธุ์” ก็ยังมีสิงสาราสัตว์อันน่าทึ่งอีกมาก หลายชนิดเห็นแล้วอะเมซิ่งว่ามีอยู่บนโลกด้วยเหรอ ส่วนใหญ่จะเกิดจากจินตนาการของมนุษย์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น “Leopon” ที่เกิดจากการผสม “เสือดาวตัวผู้” ข้ามสายพันธุ์กับ “สิงโตตัวเมีย” กลายเป็นสิงโตลายจุดที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร หรือจะเป็นการผสมไฮบริดระหว่าง “พ่อเสือโคร่งจอมพลัง” กับ “แม่สิงโต” ก็ได้ผลลัพธ์ชวนตะลึงเป็น “Tigon” คงลักษณะหน้าตาของสิงโตไว้ทุกกระเบียดนิ้ว แต่ไม่ทิ้งลายพาดกลอน ซิกเนเจอร์ประจำตัว
นักล่าแห่งพงไพร แปลกแต่จริงเมื่อทดลองจับ “สิงโตตัวผู้” มาผสมข้ามสปีชีส์กับ “เสือตัวเมีย” กลับได้เจ้าป่าตัวใหญ่ยักษ์อย่าง “Liger” ที่มีน้ำหนักมากถึง 410 กิโลกรัม พี่เบิ้มชอบเล่นน้ำเหมือนกับแม่ แต่ก็เจ๊าะแจ๊ะเข้าสังคมเก่งแบบพ่อ ส่วนที่ข่มกันไม่ลงเห็นจะเป็นยีนเด่นของ “พ่อเสือจากัวร์ตัวดำ” ที่ปะทะ “สิงโตตัวเมีย” แบบไม่มีใครยอมลดราวาศอกให้กันเลย คลอดออกมาเป็น “Jaglion” มาดเข้มดุดัน
ลองจินตนาการไปไกลอีกนิดว่า ถ้าจับ “แมวป่าพันธุ์ดุแอฟริกัน” ที่นิสัยคล้ายเสือ มารวมร่างกับ “แมวสยามมิส” จะสร้างสรรค์เพียงใด ผลที่ออกมางดงามเกินคาด เพราะได้ “Savannah Cat” แมวลายเสือขนาดกลางที่แสนน่ารักน่าเอ็นดู นิสัยช่างคลอเคลียเหมือนสุนัข แต่ไม่กลัวน้ำเหมือนแมว แม้จะเพิ่งถือกำเนิดครั้งแรกในปี 1986 แต่ความนิยมในการเลี้ยงแมวซาวานนาห์กลับแพร่หลายอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นแมวสายพันธุ์ใหม่ของโลกไปแล้ว
“ปลาวาฬเพชฌฆาตดำตัวผู้” กับ “แม่ปลาโลมาปากขวด” ก็ถูกจับมาผสมข้ามสายพันธุ์ด้วย แต่มีโอกาสพบเห็นได้น้อยมาก เช่นเดียวกับการไฮบริดระหว่างยูนิคอร์นแห่งท้องทะเล “วาฬนาร์วาล” กับ “วาฬเบลูกา” รวมกันเป็น “Narluga” ก็เป็นบททดสอบสำคัญพิสูจน์ความอยู่รอดของสัตว์ใต้ทะเลแอตแลนติกเหนือ
กระนั้น การไฮบริดที่ไปไม่รอดก็มีถมไป อย่างการจับ “ม้าลาย” ผสมกับ “ลา” หรือเอา “ม้า” ผสมกับ “ม้าลาย” และเลยเถิดไปถึงขั้นจับ “แพะ” กับ “แกะ” มาไฮบริดรวมกัน กลับได้ผลลัพธ์เป็นสัตว์ไฮบริดที่อ่อนแอยิ่งกว่าพ่อแม่ ถ้าข้ามสายพันธุ์แล้วไม่เวิร์กมีแต่จะย่ำแย่ลง ก็อย่าฝืนเดินหน้าผสมกันให้เสียเผ่าพันธุ์ ในเมื่อไปกันไม่ได้ ต้องคอนเวิร์สทางใครทางมัน เสียเวลาเปล่าที่จะแบกหลังแอ่นเพื่อรวมร่างกัน.
อาคีรา
"คล่องแคล่ว" - Google News
June 28, 2020 at 05:02AM
https://ift.tt/2ND8ht3
อยากรอดต้องกล้าผสมข้ามสายพันธุ์ “ล่อ-ลา-ม้า” ต้นแบบสัตว์ไฮบริด อึดถึกฉลาด - ไทยรัฐ
"คล่องแคล่ว" - Google News
https://ift.tt/3gIEJrl
Home To Blog
No comments:
Post a Comment