ธนพงศ์ พุทธิวนิช : เรื่อง
กิจกรรมทางการเมืองที่ปรากฏภาพเยาวชนมาร่วมเคลื่อนไหวถูกตีแผ่ผ่านสื่อหลากหลายแขนงกระจายไปสู่สายตาคนต่างชาติในช่วงกลางปี 2020 การเคลื่อนไหวโดยคนรุ่นใหม่หลากหลายกลุ่มไม่ได้เพียงสะท้อนถึงสถานการณ์ทางสังคมและบทบาทของคนรุ่นใหม่เท่านั้น เรื่องนี้ย่อมสะท้อนถึง “เครื่องมือ” และรูปแบบของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยยุคนี้ที่คนบางรุ่นน่าจะไม่เคยเห็นมาก่อน
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะสะท้อนภาพรวมของรูปแบบการเคลื่อนไหวยุคใหม่ของเหล่าเยาวชน คือ กิจกรรม “วิ่งกันนะแฮมทาโร่” ละแวกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีตัวการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์ในกิจกรรม หรือกรณีอื่นอย่างบทเพลงพ็อปทั่วไปที่ไม่ได้มีเนื้อหาทางการเมืองก็ถูกดัดแปลงเข้ามาร่วมในกิจกรรมด้วย
ตัวการ์ตูน หรือเพลงพ็อปที่ปรากฏในกิจกรรมอันมีเนื้อหาเชิงการเมืองเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดีในนาม “pop culture” ในไทยมีคำแปลของศัพท์นี้หลากหลาย ทั้งวัฒนธรรมประชานิยม, วัฒนธรรมสมัยนิยม หรือเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัยก็มี
รูปแบบการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเชิงการเมืองที่ปรากฏสัญลักษณ์ตัวการ์ตูน ไปจนถึงบทเพลงซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย กลับมาปรากฏในกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ในไทยช่วงเวลานี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจยังไม่ถึงขั้นส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อสังคมโดยรวม แต่อย่างน้อยรูปแบบการใช้งานวัฒนธรรมร่วมสมัยเหล่านี้มีนัยบางอย่างที่น่าคิดทีเดียว
“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจ และถอดรหัสการใช้ pop culture ในเชิงการเมืองในห้วงบรรยากาศปี 2020 และย้อนกลับไปดูการใช้งาน “เครื่องมือ” เหล่านี้ในทางการเมืองในอดีต ว่าสิ่งเหล่านี้มีบทบาทอย่างไรบ้าง
Pop Culture กับการเมือง
ในเชิงวิชาการมีข้อถกเถียงมายาวนานว่า pop culture มีน้ำหนักพอให้ลงไปศึกษาอย่างจริงจังในแง่มุมทางการเมืองหรือไม่ นักวิชาการบางสาขามองว่า วัฒนธรรมกลุ่มนี้เป็น “การเมืองระดับภายในประเทศ” หรืออาจมีความเป็น “การเมือง” น้อย หรือบางคนมองว่ามันไม่เป็น “การเมือง” เลยด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม หากเอ่ยถึงวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมในหมู่มวลชนซึ่งมีบทบาทในเชิงการเมือง ต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองสิ่งมีมายาวนานอย่างยิ่ง และก่อนหน้าที่วัฒนธรรมกลุ่มนี้จะถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายปกครองเคยใช้ “pop culture” เป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือแม้แต่ใช้ในบทบาทเชิง “โฆษณาชวนเชื่อ” (propaganda) ด้วยซ้ำ
หากมองความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งในระดับเบื้องต้น การใช้สื่อที่ปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสมัยเข้มข้นและเห็นได้ชัดในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ในช่วงสงคราม วัฒนธรรมร่วมสมัยถูกใช้ในทางการเมือง ในยุคใหม่ สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ และโทรทัศน์คือสิ่งที่ถูกใช้ในเชิงการเมือง ในห้วงสงคราม ทางการนิยมใช้สื่อเหล่านี้ตอกย้ำ “ความเป็นชาติ” และใช้นิยามตัวตน “ฝ่ายตรงข้าม/ศัตรู”
“Casablanca” ภาพยนตร์คลาสสิกจากปี ค.ศ. 1942 ได้รับสนับสนุนจากแผนก “ภาพยนตร์สงคราม” (War Films) ของหน่วยงาน Department of War แห่งสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากเรื่อง “ความรัก” และบทเพลงกินใจแล้ว โครงเรื่องบางส่วนแฝงอุดมการณ์เกี่ยวกับเรื่องทำเพื่อส่วนรวม ฯลฯ
ไม่ใช่แค่ภาวะพิเศษ ในยามบ้านเมืองสงบสุข ฝ่ายปกครองใช้ “pop culture” เป็น “soft power” รัฐบาลมหาอำนาจแทบทุกประเทศล้วนใช้แฟชั่น, ภาพยนตร์, ดนตรี, การแสดง, ภาษา เป็น “เครื่องมือ” เพื่อบรรลุเป้าหมายหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขยาย “อาณาบริเวณ” ของตัวเอง แต่ไม่ใช่เชิงพื้นที่ ขอบเขตบริเวณนี้คือ “การรับรู้/ความนึกคิด” ของผู้คน
เทวี ทรอย (Tevi Troy) อดีตที่ปรึกษาฝ่ายบริหารของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ยุค นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) เมื่อปี 2005-2007 ฉายภาพการใช้ “pop culture” ในทางการเมืองสมัยใหม่ว่า นักการเมืองหรือผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่พัฒนาทักษะด้านการอ้างอิงข้อมูล-เนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างคล่องแคล่ว หรือสามารถนำตัวเองไปมีตัวตนอยู่ในพื้นที่ของวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ ย่อมมีแนวโน้มขยายการรับรู้เข้าไปสู่สาธารณชนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
Pop Culture ในการเคลื่อนไหวของมวลชน
มาถึงทศวรรษที่ 2000s การขับเคลื่อนทางการเมืองไม่ได้มีเพียงแค่ฝ่ายบริหารและปกครอง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการเมืองและสภาพแวดล้อม นำมาสู่การขับเคลื่อนจากฟากพลเมืองเช่นกัน ผู้คนทุกสถานะ หลากชนชั้นจากอาชีพต่าง ๆ ล้วนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนทางการเมืองผ่านกิจกรรมและการเคลื่อนไหวต่าง ๆ
รูปแบบการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นล่าสุดในไทยปรากฏขึ้นในกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ถูกพูดถึงมาก คือ กิจกรรม “วิ่งกันนะแฮมทาโร่” ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่
ความเคลื่อนไหวโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ ทำให้คนทั่วไปต้องสนใจเมื่อพวกเขาใช้สัญลักษณ์ตัวการ์ตูน “แฮมทาโร่” (Hamtaro) ซึ่งกำเนิดจากญี่ปุ่นในยุค 1990s แคแร็กเตอร์นี้เริ่มต้นจากมังงะ และดัดแปลงเป็นอนิเมะในภายหลัง เมื่อเข้ามาในไทยใช้ชื่อ “แฮมทาโร่ แก๊งจิ๋วผจญภัย” ออกอากาศในช่วงต้นยุค 2000s โดยที่เพลงประจำอนิเมะก็ดัดแปลงมาเป็นภาษาไทยเช่นกัน เด็ก ๆ สมัยนั้นจะคุ้นกับเนื้อร้องขึ้นต้นว่า “เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะ วิ่งนะ แฮมทาโร่ ตื่นออกจากรัง วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ ของอร่อยที่สุดก็คือ เมล็ดทานตะวัน…”
“แฮมทาโร่” เป็นอีกหนึ่งสื่อจากแดนซามูไรที่ยังวนเวียนในความทรงจำของคนรุ่นใหม่ ยิ่งในยุคดิจิทัล ใคร ๆ ก็เข้าถึงสื่อย้อนหลังได้อย่างง่ายดาย “แฮมทาโร่” จึงยังอยู่ในการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ และในภาวะที่รัฐบาลจับจ้องการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด ขณะที่สถานการณ์ละเอียดอ่อน การสื่อสารเชิงสัญลักษณ์จึงกลายเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่เหมาะกับบริบททุกวันนี้
สื่อกลางที่สำคัญในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ยุคนี้ คือ “สื่อสังคมออนไลน์” การเคลื่อนไหว “วิ่งกันนะแฮมทาโร่” ส่วนหนึ่งก็มาจากแฮชแท็กในทวิตเตอร์ จนนำมาสู่การนัดหมายมาเจอกันคล้าย ๆ กับ “แฟลชม็อบ” และร่วมกันกับกลุ่มอื่น ๆ ที่มีแนวทางเดียวกันด้วยการเรียกร้องให้ยุบสภา
เมื่อมาถึงการเคลื่อนไหว พวกเขาไม่ได้ใช้ “แฮมทาโร่” เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น สื่อที่สำคัญอีกชิ้น คือ เพลงประจำรายการ ซึ่งดัดแปลงเนื้อร้องท่อนติดหูเป็น “เอ้า ออกมาวิ่ง วิ่งนะ วิ่งนะ แฮมทาโร่ ตื่นออกจากรัง วิ่งนะ วิ่งนะ แฮมทาโร่ ของอร่อยที่สุดก็คือ ภาษีประชาชน” ผสมเข้ากับคำร้องที่เติมในช่องว่าง ซึ่งคำที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ตะโกนแทรกคือคำว่า “ยุบสภา”
หนู, การวิ่งวน และเนื้อเพลงที่แปลงใหม่ ให้มีคำว่า “ภาษีประชาชน/ยุบสภา” เป็นไอเดียซึ่งไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แทนแบบลอย ๆ จากรายงานของบีบีซีไทย ซึ่งอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของผู้ร่วมจัดงานเผยนัยเบื้องหลังของสัญลักษณ์นี้ว่า หนูคือสัตว์ที่วิ่งวนในกรงของตัวเอง เท่านั้นไม่พอ “กรง” ที่วิ่งนั้นก็กำลังจะพัง การวิ่งคือการออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง
Pop Culture แบบคลาสสิก สู่ “แฮมทาโร่” และอื่น ๆ
กิจกรรมที่ใช้สัญลักษณ์ “แฮมทาโร่” เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ขยายวงไปนอกประเทศไม่ได้จำกัดแค่ในโลกของพวกเขาเองเท่านั้น กระแสที่พบเห็นนี้ทำให้เกิดการเชิญชวนเคลื่อนไหวภายใต้สัญลักษณ์อันมาจากวัฒนธรรมร่วมสมัยอีก
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า “ความคิดสร้างสรรค์” จะนำมาสู่การเชื่อมโยงระหว่างแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกในรอบ 30 ปีของลิเวอร์พูล มาผูกกับกิจกรรมทางการเมืองในไทยได้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว เมื่อเพจ “ใต้เตียง มธ.” สร้างแคมเปญเชิญชวนสาวกลิเวอร์พูลมารวมกันที่งาน “You’ll never walk alone ลิเวอร์พูลกับประชาธิปไตย” ในวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม กิจกรรมครั้งนี้จะมีการแห่ถ้วยแชมป์รอบถนนราชดำเนินกลาง มีจำหน่ายเสื้อเพื่อหาทุนมาดำเนินงานด้วย
“แฮมทาโร่” ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียวในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มาจาก “pop culture” ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม วัฒนธรรมร่วมสมัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง (โดยตรง) ถูกหยิบมาใช้ในการเคลื่อนไหวมากมาย ตั้งแต่ “นินจานารุโตะ”, “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ไปจนถึงบทภาพยนตร์ไทยอย่าง “หอแต๋วแตก” ก็ปรากฏในกิจกรรมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
หลายทศวรรษที่ผ่านมา วัฒนธรรมร่วมสมัยปรากฏในการเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้น สังเกตได้ว่า “สื่อบันเทิง” เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากอันดับต้น ๆ การชู 3 นิ้ว อันเป็นสัญลักษณ์ของ “การต่อต้าน” ที่เห็นบ่อยในช่วงหลายปีหลังนี้ก็มาจากรายละเอียดในโครงเรื่องของภาพยนตร์ชุด “The Hunger Games”
สัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในศตวรรษที่ 21 ซึ่งพบเห็นกันบ่อยที่สุดในกิจกรรมทั่วโลก คือ หน้ากาก “กาย ฟอว์กส” (Guy Fawkes) จากภาพยนตร์เรื่อง “V For Vendetta” (2005) ตัวเอกในภาพยนตร์นี้มีพฤติกรรมแนวอนาธิปไตย เคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาลเผด็จการ โดยเขาสวมหน้ากากสีขาวที่ถอดแบบจากใบหน้าของ “กาย ฟอว์กส” ซึ่งถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้ก่อกบฏวางแผนสังหารกษัตริย์อังกฤษ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1600 หลังจากภาพยนตร์เผยแพร่หน้ากาก “กาย ฟอว์กส” ถูกนำมาใช้ในการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างแพร่หลาย
ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่ถูกนำมาใช้ คือ “Joker” (2019) การประท้วงในเลบานอน และการชุมนุมอีกหลายแห่ง มีผู้ร่วมชุมชนบางกลุ่มแต่งกายเป็น “ตัวตลก” สืบเนื่องจากเนื้อหาว่าด้วยความแตกต่างทางชนชั้นในหนังที่ดัดแปลงมาจากตัวละครดังในคอมิกของอเมริกันชน
หากมองในภาพกว้างไปกว่าเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง pop culture มีบทบาทและแทรกซึมอยู่ในวงจรระดับมหภาคและจุลภาคอีกหลายแง่มุม ในทางเศรษฐกิจหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กรณีสหรัฐอเมริกากับจีน ข้อมูลสินค้า 5 ประเภทที่จีนนำเข้าจากสหรัฐมากที่สุด ซึ่งเปิดเผยเมื่อปี 2014 คือ เฟอร์นิเจอร์, เครื่องนอน, ของเล่น, เครื่องกีฬา และรองเท้า ล้วนมีองค์ประกอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยอยู่ทั้งสิ้น
ตราบใดที่มนุษย์ (รุ่นใหม่) ยังไม่ขาด “ความคิดสร้างสรรค์” เชื่อว่า รูปแบบการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ยังมีแนวโน้มจะปรากฏสู่สาธารณชนอีกหลายกรณี ยิ่งมีทักษะใช้ “เครื่องมือ” สื่อกลางอย่างคล่องแคล่ว ยิ่งมีโอกาสสร้างการรับรู้ได้มากขึ้นเท่านั้น
"คล่องแคล่ว" - Google News
August 06, 2020 at 05:49PM
https://ift.tt/2ENML3t
ถอดรหัส POP CULTURE เครื่องมือคลาสสิกในการเคลื่อนไหวทางการเมือง - ประชาชาติธุรกิจ
"คล่องแคล่ว" - Google News
https://ift.tt/3gIEJrl
Home To Blog
No comments:
Post a Comment